ฟาฏินา วงศ์เลขา
ในศตวรรษนี้ถือเป็นยุคที่โลกต้องเผชิญใกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ ต่าง ๆ
จากทุกสารทิศทั่วทุกมุมโลกสามารถถ่ายทอดส่งต่อกันได้อย่างไร้ขีดจำกัดเพียงปลายนิ้วสัมผัสโดยใช้เวลาเพียงแค่เสี้ยววินาทีเท่านั้น
การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาแบบก้าวข้ามพรมแดนสามารถซอกซอนไปได้ทั่วทุกมุมโลกตามที่ต้องการโดยผ่านระบบเครือข่าย
ซึ่งปัจจุบันแวดวงทางการศึกษาหลายประเทศทั่วโลกกำลังก้าวข้ามรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิม
ๆ ที่ใช้ครูเป็นศูนย์กลางมาเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน
การจัดการเรียนการสอนในยุคนี้ถือว่าเป็นยุคของ "โลกคือห้องเรียน"
ซึ่งกำลังจะแปรสภาพจากอดีตที่ห้องเรียนเป็นเพียงแค่ห้องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ
มีครูทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอด วิชาความรู้ให้กับผู้เรียนเพียงอย่างเดียว
ผู้เรียนก็มีหน้าที่รับความรู้จากครูผู้สอน ซึ่งแตกต่าง
จากปัจจุบันที่เริ่มมีการนำสื่อเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดความรู้จากครูผู้สอนไปสู่ผู้เรียน
ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจ สนใจใฝ่เรียนรู้ สนุกสนาน
กระตือรือร้นในการเรียนรู้มากขึ้น
แม้ว่าการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการจัดการศึกษานั้นจะทำให้ผู้เรียนมีแหล่งเรียนรู้ที่กว้างใหญ่ไพศาลมีความรู้มากมายหลากหลายให้ศึกษาเรียนรู้
สามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย
แต่การที่ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยผู้สอนที่เข้าใจและมีความรู้ในด้านการใช้เทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
ผู้สอนยังจำเป็นต้องเป็นผู้สร้างบรรยากาศและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้
ให้ผู้เรียนรู้จักเลือกศึกษาค้นคว้าข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องเหมาะสมและมีวิจารณญาณ
เพราะข้อมูลสารสนเทศที่เผยแพร่บนระบบอินเทอร์เน็ตนั้นมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ยังไม่ได้ผ่านการกลั่นกรอง
ดังนั้นผู้สอนมีหน้าที่ต้องชี้แนะให้ผู้เรียนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์
คิดอย่างมีระบบมีเหตุผล คิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้สูงสุด
ไม่เป็น "ดาบสองคม" อย่างที่หลายคนห่วงใย
การจัดการเรียนการสอนในยุคโลกดิจิตอลนั้นครูควรมีบทบาทในการเป็นผู้อำนวยความสะดวกและชี้แนะแนวทางเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
และบางครั้งอาจจะต้องเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับผู้เรียนด้วย
ดังนั้นครูในยุคนี้จึงต้องมีคุณลักษณะที่เรียกว่า E-Teacher เช่น
ต้องมีประสบการณ์ในการจัดการเรียนรู้แบบใหม่โดยจัดการเรียนการสอนผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและสื่อเทคโนโลยี มีทักษะในการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ
เพื่อขยายองค์ความรู้ของตนเองตลอดเวลา มีความสามารถในการถ่ายทอดหรือขยายความรู้ของตนเองสู่นักเรียนผ่านสื่อเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีความสามารถในการเสาะหาและคัดเลือกเนื้อหาความรู้หรือเนื้อหาที่ทันสมัย
เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนผ่านทางสื่อเทคโนโลยี สามารถใช้สื่อเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งในฐานะที่เป็นผู้ผลิตความรู้
ผู้กระจายความรู้ และผู้ใช้ความรู้ เป็นต้น
ในยุคโลกดิจิตอลเราจะ
สร้างผู้เรียนให้มีคุณลักษณะเป็นเช่นไร
ย่อมเป็นสิ่งท้าทายที่ผู้บริหารการศึกษาต้องเก็บไปคิดและพัฒนาให้บรรลุเป้าหมาย
สำหรับคุณลักษณะของผู้เรียนที่สังคมคาดหวัง เช่น มีคุณธรรม เป็นคนดีมีน้ำใจ
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีทักษะที่หลากหลาย
เช่น ทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบ รู้จักการแก้ไขปัญหา
มีความสามารถด้านการใช้ภาษาไทยและภาษาต่างประเทศอย่างน้อย 2 ภาษา มีพื้นฐานและทักษะการคำนวณที่ดี และมีความชำนาญในการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ
พร้อมเผชิญปัญหาและสามารถเลือกวิธีแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น
ในการจัดการศึกษาของชาติสิ่งจำเป็นที่จะต้องหยิบยกมาพิจารณาและพัฒนาไปให้ถึง
นั่นคือ ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21
ซึ่งเป็นโลกยุคดิจิตอลที่ทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ 3R และ 7C นั่นคือ 3R ได้แก่
การอ่าน (Reading) การเขียน (writing)และคณิตศาสตร์
(arithmetics) ส่วน 7C ได้แก่
คิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา (Critical thinking & problem solving) คิดสร้าง สรรค์และคิดค้นนวัตกรรม (Creativity & innovation) เข้าใจบนวัฒนธรรมที่แตก ต่างหลากหลาย (Cross-cultural under
standing) ความร่วมมือ ทำงานเป็นทีมและภาวะผู้นำ (Collaboration,
teamwork & leadership) การสื่อสาร รู้เท่าทันสื่อ และข้อมูลสารสนเทศ (Communications,
information & media literacy) มีทักษะ ด้านคอมพิวเตอร์และสื่อเทคโนโลยี (Com puting & ICT
literacy) และมีทักษะการเรียนรู้และอาชีพ
(Career & learning skills)
อย่างไรก็ตาม
การจัดการเรียนการสอนในยุคโลกดิจิตอลนั้นใฝ่ฝันอยากเห็นภาพห้องเรียนที่เป็น
ชุมชนขนาดใหญ่ ให้โลกคือห้องเรียน ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่ เป็นผู้ชี้นำตนเองได้
หลักสูตรมีความยืดหยุ่นคำนึงถึงความแตก ต่างระหว่างบุคคล การสอนไม่ยึดหนังสือเรียนเป็นหลักเช่น
ปัจจุบัน ไม่เน้นการเรียนแบบท่องจำ เน้นให้คิดเป็นแก้ปัญหาได้
ต้องเป็นการเตรียมผู้เรียนให้พร้อมเพื่อใช้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง
และเป้าหมายสำคัญที่สุด นั่นคือ สร้างคนคุณภาพที่เป็นคนดีและมีคุณธรรม.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 3 พ.ย. 2558
(กรอบบ่าย)
ที่มา: http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=43633&Key=hotnews
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น