ในการเขียนแผนจัดการเรียนรู้ขั้นบูรณาการความรู้
ปฎิบัติการเขียนแผนจัดการเรียนรู้ด้วยการสร้างและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน
หรือกระบวนการเรียนการสอนขึ้นจากความรู้ ความคิดและประสบการณ์ของตน หรือประยุกต์จากทฤษฎีและหลักการทั้งของไทยและต่างประเทศ
เพื่อพัฒนาความสามารถของผู้เรียนในการคิด การเผชิญสถานการณ์
การตัดสินใจและการแก้ปัญหา การพัฒนาทางด้านค่านิยม จริยธรรม เจตคติต่างๆ
การพัฒนาทางด้านการคิด การปฎิสัมพันธ์และการทำงานเป็นกลุ่ม รวมทั้งการปฎิบัติและการแก้ปัญหาต่างๆ
รวมทั้งพัฒนากระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ.2542
การจัดทำแผนการสอนนั้น ครูผู้สอน
จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาอย่างถ่องแท้
เพื่อให้สามารถออกแบบแผนการสอนได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องครบถ้วน
ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการจัดการศึกษาทั้งกับตัวผู้เรียนและตัวครูผู้สอนเอง
โดยอาศัย โดยองค์ประกอบที่สำคัญของการออกแบบแผนการสอนนั้น จะต้องประกอบด้วย
1. หัวเรื่อง คือ ส่วนที่ต้องกำหนด
ชื่อของเรื่องหรือหน่วยการเรียนรู้ ขั้นที่สอนและเวลาที่ใช้สอน
2. สาระสำคัญ คือ
มโนทัศน์หลักหรือความคิดรวบยอดของการจัดการเรียนรู้ในเรื่องนั้น ๆ
ซึ่งกำหนดเป็นภาพกว้างให้เห็นการเชื่อมโยงข้อมูลของสิ่งที่กำลังจะสอน
3. มาตรฐานและตัวชี้วัด คือ
คุณลักษณะสำคัญของผู้เรียนที่กำหนดไว้ในหลักสูตร โดยในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้
จะหยิบยกมาเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาและคาดว่าจะเกิดกับผู้เรียน
ซึ่งการที่ลักษณะของผู้เรียนเป็นไปตามมาตรฐานและตัวชี้วัดนี้
จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางและส่วนที่เพิ่มเติมให้หลักสูตรสถานศึกษา
4. จุดประสงค์การเรียนรู้ คือ
เป้าหมายที่ต้องการให้เกิดกับตัวผู้เรียนหลังจากที่เราได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้ตามแผนที่ได้วางไว้แล้ว
โดยในการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้นั้นจะต้องเกิดจากการวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดตามตารางวิเคราะห์หลักสูตร
5. สาระการเรียนรู้ คือเนื้อเรื่อง
หรือองค์ความรู้ ทักษะ กระบวนการของผู้เรียนที่จะต้องเรียนรู้ในรายวิชานั้น ๆ
6. การบวนการการเรียนรู้ คือ
การระบุกิจกรรมการเรียนรู้ที่จัดขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยแบ่งเป็น
ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ขั้นสอน และขั้นสรุป
7. สื่อ/อุปกรณ์/แหล่งการเรียนรู้
คือ เครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ใช้ตามที่กำหนดในกิจกรรมการเรียนรู้
8. การวัดและประเมินผล คือ
การประเมินผลผู้เรียนตามจุดประสงค์การเรียนรู้
ซึ่งควรระบุเครื่องมือวัดและเกณฑ์การให้คะแนน ซึ่งสามารถศึกษาได้จากคู่มือหลักสูตร
9. บันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้
คือการบันทึกของครูผู้สอนจากสิ่งที่พบในการนำแผนจัดการเรียนรู้มาใช้ โดยแบ่งเป็น
ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ปัญหาและอุปสรรค์ และ ข้อเสนอแนะ
องค์ประกอบทั้งหมดนี้
ถ้าครูผู้สอนสามารถเข้าใจความเกี่ยวพันของแต่ละองค์ประกอบตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการ
จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบแผนการสอนที่เป็นแบบฉบับของตัวเองได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องตามหลักสูตรแกนกลาง
ซึ่งลักษณะของการเขียนแผนการสอนที่ดีนั้น ควรมีดังนี้
1. มีความละเอียด ชัดเจน ครบถ้วน ครอบคลุมทุกองค์ประกอบของการออกแบบแผนการสอน
โดยสามารถตอบคำถามได้ว่าสอนอะไร มีจุดประสงค์อย่างไร โดยวิธีไหน และวัดผลเช่นไร
2. แผนการสอนควรเกิดจากการสร้างสรรค์และคิดค้นขึ้นมา
โดยตัวครูผู้สอนเอง
และคำนึงความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญควบคู่กับสิ่งที่ผู้เรียนต้องเรียนตามหลักสูตร
และที่สำคัญที่สุด คือแผนการสอนนั้น จะต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง
3. ส่วนประกอบต่าง ๆ
ของแผนการจัดการเรียนรู้ต้องมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องสัมพันธ์กัน
ซึ่งในการจัดทำแผนการสอน จำเป็นต้องมีการจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตรก่อน
เพื่อกำหนดมาตรฐานและตัวชี้วัดที่เราต้องการวัดในหน่วยการเรียนรู้นั้นๆ
จากนั้นก็นำมาตรฐานและตัวชี้วัดที่ได้ไปกำหนดเป็นจุดประสงค์การเรียนรู้
รวมถึงนำจุดประสงค์การเรียนรู้ระบุในการประเมินผล
4. มีการใช้กิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
เหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพของผู้เรียน โดยมีการบูรณาการ ความคิด ทักษะกระบวนการ
และการปฏิบัติเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนมีองค์ความรู้ด้วยตัวเอง
ซึ่งในการเขียนแบบการสอนนั้นต้องแยกเป็นขั้นนำ ขั้นสอน และขั้นสรุป
เพื่อให้เห็นกระบวนการที่ชัดเจน
และควรจะต้องออกแบบให้ผู้อื่นสามารถใช้แทนตัวเราได้
5. มีการเลือกใช้สื่อ
นวัตกรรม รวมถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่หลากหลาย
ตามรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้วางไว้
6. มีการวัดผลและประเมินผลที่ชัดเจน สอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้
ซึ่งควรมีการจัดทำเครื่องมือในการวัด
และระบุเกณฑ์ที่เหมาะสมกับสภาพผู้เรียนตามหลักสูตร
7. มีการบันทึกหลังการสอน
โดยระบุผลของการจัดการเรียนรู้
ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ
ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ดีในการออกแบบแผนการสอนในครั้งต่อไป
8. มีองค์ประกอบสำคัญครบถ้วน
เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นที่ผู้เรียนอาศัย
9. มีความสมบูรณ์ถูกต้อง
มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน
จะสังเกตได้ว่า
การออกแบบแผนการสอนให้ถูกต้องเหมาะสมเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจในรายละเอียดอย่างมาก
ถึงแม้ว่าการออกแบบแผนการสอนนั้นจะเป็นไม้เบื่อไม้เมาของบรรดาครูผู้สอนหลาย ๆ ท่าน
แต่ถ้าเข้าใจองค์ประกอบและการเชื่อมโยงทั้งหมดนี้
ก็จะช่วยให้ครูผู้สอนสามารถออกแบบและจัดทำแผนการสอนนั้นด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น
ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้น ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาอย่างมาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น