โดยทั่วไป
แนวคิดเกี่ยวกับ ‘สภาพแวดล้อมการเรียนรู้’ (Learning Environment) มักเกี่ยวข้องกับการพัฒนาปรับปรุงบรรยากาศในชั้นเรียนและสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน
อีกคำหนึ่งที่เห็นใช้กันมากคือ ‘ระบบนิเวศการเรียนรู้’ (Learning
Ecosystem) มีความหมายที่ขยายขอบเขตมากกว่าพื้นที่โรงเรียน
แต่ครอบคลุมไปถึงสถานที่ทำงาน ชุมชน ซึ่งแวดล้อมด้วยทรัพยากร ผู้คน และเทคโนโลยี
ซึ่งล้วนมีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ
อย่างไรก็ดี
มโนทัศน์ของคำว่า “สภาพแวดล้อมการเรียนรู้”
มักถูกโน้มนำให้นึกถึงเพียงแค่การปรับปรุงลักษณะทางกายภาพดังเช่นอาคารสถานที่หรือสิ่งที่จับต้องได้
ซึ่งไม่เพียงพอในการทำความเข้าใจถึงองค์ประกอบที่สนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้สร้างสรรค์
ดังนั้นการขยับมุมมองไปยังมิติเชิงวัฒนธรรมรวมถึงระบบโครงสร้างการศึกษา
แล้วนำมาทดลองสังเคราะห์
จึงพอจะสรุปแนวคิดเบื้องต้นว่าด้วยสภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ได้ ดังแผนภาพ
จากรูป
สภาพแวดล้อมการเรียนรู้สร้างสรรค์ ควรมีองค์ประกอบที่จำเป็น 6 ประการได้แก่
1. แหล่งเรียนรู้หรือพื้นที่การเรียนรู้
ที่มีทรัพยากรหลากหลายและเพียงพอตอบสนองความต้องการของผู้ใช้
นี่คือมุมมองในเรื่องพื้นที่กายภาพซึ่งคุ้นเคยกันดี
2. เนื้อหาสาระ หรือ Content แบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือองค์ความรู้ของแหล่งเรียนรู้นั้นๆ
และส่วนที่สองคือสื่อการเรียนรู้
เป็นตัวกลางที่นำองค์ความรู้ไปสู่ผู้เรียนหรือผู้ใช้
3. กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
ในลักษณะที่เป็นทั้งโครงการ อีเว้นท์ และการรณรงค์
ซึ่งควรเน้นการสร้างประสบการณ์แก่ผู้ใช้ในลักษณะของการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเอง
และส่งเสริมให้มีวัฒนธรรมการแบ่งปันความรู้หรือบทเรียนจากการลงมือทำไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว
4. ความหลากหลาย
หมายถึงการยอมรับในความแตกต่างทั้งความคิดและวิถีชีวิต
เคารพในอัตลักษณ์ย่อยไม่ให้ถูกกลืนหาย โดยไม่จำเป็นต้องแสวงหาความเป็นหนึ่งเดียวเสมอไป
5. ความคิดสร้างสรรค์
โดยส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดเชิงตรรกะ คิดเป็นระบบ และความมีเหตุผล
ตลอดไปจนถึงการคิดนอกกกรอบ การคิดแก้ไขปัญหา
ซึ่งเป็นพื้นฐานของการคิดสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดจนเกิดเป็นนวัตกรรม
6.
เสรีภาพในการแสดงออกทั้งการคิดการเขียนและการพูด
โดยตระหนักถึงความรับผิดชอบในการใช้เสรีภาพที่จะต้องไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นหรือคนส่วนใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น