การสร้างบทเรียนแบบบูรณาการ (เพิ่มเติม บท 6)




การสร้างบทเรียนแบบบูรณาการมี 2 ลักษณะคือ การสอนบูรณาการตามรูปแบบที่ 1 และ 2   และการสอนบูรณาการตามรูปแบบที่ 3 และ 4 

การสอนตามรูปแบบที่  1  (Infusion  Instruction)  และรูปแบบที่  2  (Parallel  Instruction)  มี  2  วิธีคือ

                วิธีที่หนึ่ง  เลือกหัวเรื่อง (Theme)  ก่อนแล้วดำเนินการพัฒนาหัวเรื่องให้สมบูรณ์  มีกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจกรรมให้ชัดเจน  กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่จะใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่นๆ  ตามลำดับ

                วิธีที่สอง  เลือกจุดประสงค์รายวิชาจาก  2  รายวิชาขึ้นไปก่อน  แล้วนำมาสร้างเป็นหัวเรื่อง  (Theme)  ที่ร่วมกันระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่ใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่นๆ  ตามลำดับ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

                วิธีที่หนึ่ง  เลือกหัวเรื่องก่อน

      ขั้นที่  1  เลือกหัวเรื่อง  (Theme)  โดยวิธีต่อไปนี้

          1. ระดมสมองของครูและนักเรียน

          2. เน้นที่การสอดคล้องกับชีวิตจริง

          3. ศึกษาเอกสารต่างๆ

          4. ทำหัวเรื่องให้แคบลงโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างวิชาความรู้  และความสนใจของนักเรียน

                ขั้นที่  2  พัฒนาหัวเรื่อง  (Theme)  ดังนี้

          1. เขียนวัตถุประสงค์โดยกำหนดความรู้และความสามารถที่ต้องการ  จะให้เกิดแก่ผู้เรียน  เขียนวัตถุประสงค์ในลักษณะที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวิชา  กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่กิจกรรม

          2.  กำหนดเวลาในการสอนให้เหมาะสมกับกำหนดเวลาต่างๆ  ตามปฏิทินของโรงเรียน  เช่น  จำสอนเมื่อใด  ใช้เวลาเท่าไร  ยืดหยุ่นได้หรือไม่  ต้องใช้เวลาออกสำรวจหรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหรือไม่  ฯลฯ

          3. จองเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการกระทำกิจกรรม

            ขั้นที่  3  ระบุทรัพยากรที่ต้องการ  ควรคำนึงถึงทรัพยากรที่หาได้ง่าย  แล้วติดต่อแหล่ง                                    ทรัพยากร

             ขั้นที่  4  พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน  ดังนี้

          1. พัฒนากิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงกับเนื้อหาวิชาอื่น

          2. ตั้งจุดมุ่งหมายของกิจกรรมให้ชัดเจน

          3. เลือกวิธีที่ครูวิชาต่างๆ  จะทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวิชา

          4. เลือกวิธีการสอนที่จะใช้

          5. สร้างเอกสารแนะนำการปฏิบัติกิจกรรม

          6. สิ่งที่ครูควรจะต้องเตรียมล่วงหน้าอาจประกอบด้วยสิงต่อไปนี้

                    - ใบความรู้

                   - ใบงาน

                   - แบบบันทึก (ซึ่งอาจเป็นแบบที่ครูออกแบบให้เลย  หรืออาจเป็นแบบบันทึกที่นักเรียนจะต้องช่วยกันออกแบบก็ได้)

                   - สื่อและอุปกรณ์อื่นๆ

                   - แบบประเมิน

                   -  ฯลฯ

                ขั้นที่  5  ดำเนินการตามกิจกรรมการเรียนการสอนที่เตรียมไว้โดย

                   - พยายามปฏิบัติตามแผนที่วางไว้  แต่อาจปรับกิจกรรมตามความสนใจของนักเรียน

                   - ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดหน่วยการเรียน

                   - ร่วมมือกับครูคนอื่น  มีการพบกันเป็นระยะเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า

                ขั้นที่  6  ประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน โดยครูควรกระทำตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงงานครูอาจให้นักเรียนประเมินผลตนเองก็ได้ครูควรใช้วิธี ประเมินผลที่หลากหลายและให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง เช่น สังเกต วิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนตรวจผลงาน  ทอสอบ ประเมินจากการนำเสนอรายงานหรือผลงานของนักเรียน  ประเมินจากการแสดง นิทรรศการของนักเรียน  การสัมภาษณ์นักเรียน ฯลฯ

                ขั้นที่  7  ประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน โดยครูสำรวจจุดเด่น-จุดด้อย  ของกิจกรรม แล้วบันทึกไว้เพื่อนำไปปรับปรุง

                ขั้นที่  8  แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูด้วยกันเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากิจกรรม  ในครั้งต่อๆไป

   วิธีที่สอง  เลือกจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อน

                ขั้นที่  1  เลือกจุดประสงค์การเรียนรู้จาก  2  รายวิชาขึ้นไปที่จะนำมาบูรณาการกันโดย จะต้องพิจารณาว่าจุดประสงค์นั้น ๆ  เกี่ยวข้องกันหรือไม่  และเกี่ยวข้องกันอย่างไร  ถ้าหากมีความสัมพันธ์เกี่ยวกันหรือไปด้วยกันได้ จึงนำมาบูรณาการกัน

                ขั้นที่  2  นำจุดประสงค์ดังกล่าวในขั้นตอนที่  1  มาสร้างเป็นหัวเรื่อง (Theme)  ที่ร่วมกันระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้

                ขั้นที่  3  ระบุทรัพยากรที่ต้องการ

                ขั้นที่  4  พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน

                ขั้นที่  5  ดำเนินการตามกิจกรรมการเรียนการสอนที่เตรียมไว้

                ขั้นที่  6  ประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน

                ขั้นที่  7  ประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน

                ขั้นที่  8  แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูด้วย

รายละเอียดของกิจกรรมในขั้นตอนต่างๆ  มีรายละเอียดคล้ายคลึงกับวิธีที่หนึ่ง  ต่างแต่   การสลับลำดับขั้นเท่านั้น

สำหรับการสอนบูรณาการตามรูปแบบที่  3  (Multidisciplinary  Instruction)  และรูปแบบที่  4  (Transdisciplinary Instruction)   นั้น   เน้นที่งานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากกว่า  1  สาขาวิชาขึ้นไปที่จะให้นักเรียนปฏิบัติหรือศึกษา ดังนั้นวิธีการสร้างบทเรียนแบบบูรณาการในขั้นที่  4  “การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน”  จึงเป็นการกำหนดงานหรือโครงการ  (Project)  ที่จะให้นักเรียนทำ  ทั้งนี้เพราะการสร้างงานหรือโครงการเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการสร้างบทเรียนแบบบูรณาการเพราะสามารถเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลายๆ  สาขาวิชาได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น